กทม.เมืองมลพิษ อันดับ 9 ของโลก 15 จังหวัดทั่วประเทศ ค่าฝุ่นวิกฤติ

กทม.เมืองมลพิษ อันดับ 9 ของโลก 15 จังหวัดทั่วประเทศ ค่าฝุ่นวิกฤติ

 

กรุงเทพฯฝุ่นปกคลุมเมืองสุดพีก ค่า PM 2.5 พุ่ง คุณภาพอากาศเข้าขั้นวิกฤติ ติดอันดับ 9 เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก “ชัชชาติ” น้อมรับทุกคำติ ชี้ฝุ่นส่วนใหญ่เกิดจากการเผาในพื้นที่รอบนอก บวกสภาพอากาศปิด

เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ทำได้แค่ขอความร่วมมือ ส่วนการห้ามรถบรรทุก 6 ล้อ นอกบัญชีสีเขียวเข้าวงแหวนรัชดาภิเษก เจอฝ่าฝืนกว่า 700 คัน เตรียมแจ้งให้มาชำระค่าปรับ

ด้านนายกฯสั่งการจากกรุงดาวอสให้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาฝุ่นพิษทันที ส่วน “สุริยะ” สั่งรุกตรวจรถบรรทุก-รถ บขส.-ขสมก. หากควันดำเกินกำหนดสั่งปรับทันที พื้นที่ก่อสร้างต้องสะอาดไร้ฝุ่น

ขณะที่ สธ.ชี้แค่เดือนแรกของปี 2568 มีผู้ป่วยจากฝุ่น PM 2.5 ราว 1.44 แสนราย ป่วยมากสุดกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ ตามด้วยกลุ่มโรคตาอักเสบ กลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง พบ 5 จังหวัดสภาพอากาศวิกฤติต่อเนื่องกว่า 3 วัน

สภาพอากาศกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล แย่ขั้นสุดเมื่อเต็มไปด้วยฝุ่นละอองจนท้องฟ้าทั่วกรุงตั้งแต่เช้ามืดวันที่ 23 ม.ค. ขมุกขมัวมองไม่เห็นยอดตึก ส่งผลถึงทัศนวิสัยในการมองต่ำ คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ

 

กทม.อากาศแย่ระดับวิกฤติ

ทั้งนี้ เว็บไซต์ IQAir จัดอันดับคุณภาพอากาศตามเมืองสำคัญของโลก ณ เวลา 08.00 น. วันที่ 23 ม.ค. ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index-AQI⁺) และมลพิษทางอากาศ PM2.5

พบว่า กทม. ค่าฝุ่น PM2.5 วิกฤติอยู่ในระดับสีแดง และอยู่ในอันดับ 9 เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก ขณะที่ 10 อันดับเมืองไทย ที่ดัชนีคุณภาพอากาศและมีมลพิษทางอากาศ PM2.5 มากที่สุด

คือ 1.เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 2.คันนายาว กทม. 3.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 4.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 5.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ 6.ระยอง จ.ระยอง 7.คลองหนึ่ง จ.ปทุมธานี 8.นครชัยศรี จ.นครปฐม 9.ทวีวัฒนา กทม. 10.ขอนแก่น จ.ขอนแก่น

 

“ชัชชาติ” น้อมรับคำด่า

ต่อมานายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดแถลงข่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นที่ปกคลุมไปทั่วฟ้า กทม.ว่าสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ยังแย่อยู่ จึงขอความร่วมมือประชาชน

ให้ทำงานที่บ้าน WFH ที่ผ่านมามีคนบ่นและด่าเราเยอะ ก็ต้องน้อมรับคำตินั้น แล้วนำมาปรับปรุง หากใครมีไอเดียอะไรที่ดีให้เสนอเข้ามา แต่ขอว่าก่อนจะด่าหรือคอมเม้นต์อะไร

ควรเข้าใจปัญหาที่แท้จริงก่อนว่า ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ เกิดจากการปล่อยควันรถยนต์เก่า การเผาชีวมวลจากนอกพื้นที่ และจากสภาพอากาศที่ปิด เรื่องนี้เราควบคุมไม่ได้เลย แต่จะพยายามควบคุมเรื่องรถก่อน

 

ชี้ต้นตอฝุ่นจากการเผานอกกรุง

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวอีกว่า เนื่องจากปัญหาฝุ่นส่วนใหญ่เกิดจากการเผาจากรอบนอก ส่วนการจราจรก็เป็นส่วนหนึ่ง การที่เราจะห้ามรถวิ่งในกรุงเทพฯเลยคงจะยากที่อากาศจะกลับมาอยู่ในระดับสีเขียว

เพราะบริเวณโดยรอบกรุงเทพฯ ยังอยู่ในระดับสีแดงและสีส้มหมด ส่วนที่มีคนออกมาบอกว่า กทม.ต้องทำมาตรการเชิงรุกในการปิดไซต์ก่อสร้าง ขอชี้แจงว่าจากข้อมูลที่มี เราไม่เคยสั่งปิดไซต์ก่อสร้าง

ที่ผ่านมาแค่ขอความร่วมมือ ด้วยการออกประกาศกว้างๆ ให้หยุดการก่อสร้าง แต่ไม่เคยใช้อำนาจตามกฎหมายในการบังคับ ดังนั้น

จึงต้องดูสาเหตุที่แท้จริงว่าถ้าทำแล้วจะช่วยได้หรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าการแก้ปัญหาฝุ่นจะต้องใช้วิทยาศาสตร์เป็นหลัก

พบรถหกล้อ 725 คันฝ่าฝืนคำสั่ง

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการประกาศเขตมลพิษต่ำห้ามรถบรรทุก 6 ล้อ ที่ไม่ได้ขึ้นบัญชีสีเขียวเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก เป็นเวลา 2 วัน คือ วันที่ 23-24 ม.ค.

มีการใช้กล้องวงจรปิดจับภาพ พบว่าตั้งแต่ช่วงเวลา 00.00-06.00 น. ของวันที่ 23 ม.ค. มีรถที่ผ่านเข้ามาในเขตพื้นที่วงแหวน 779 คัน เป็นรถที่อยู่ในบัญชีสีเขียว 54 คัน

คิดเป็นร้อยละ 7 ส่วนที่เหลือ 725 คันเป็นรถที่ไม่ได้ลงทะเบียน ถือว่าฝ่าฝืน ซึ่งจะได้รับจดหมายแจ้งในการชำระค่าปรับ ขอเตือนว่าผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนอย่าคิดว่าจะหลุดรอดไปได้เพราะเรามีกล้องวงจรปิดที่จับภาพรถเข้าเขตพื้นที่ไว้ทั้งหมด

 

คาดอากาศดีขึ้น 27 ม.ค.นี้

“การที่บอก กทม.ไม่ทำอะไร วันนี้เราต้องดูอำนาจที่เรามีด้วย อยู่ดีๆจะไปสั่งห้ามรถทุกคันวิ่งไม่ได้ เราต้องอ้างอิง จาก พ.ร.บ.บรรเทาสาธารณภัย

จะทำได้ต่อเมื่อมีเหตุ อันจะเกิดสาธารณภัยแล้ว ทำเพื่อป้องกันบรรเทาเหตุ ซึ่งต้องมีการคาดการณ์ล่วงหน้า ก่อนออกมาตรการต่างๆ อย่างไรก็ตามคาดว่า

หลังจากวันที่ 23 ม.ค. อากาศจะค่อยๆดีขึ้น และกลับมาเป็นระดับสีเขียว ในวันที่ 27 ม.ค.นี้ และระหว่างนี้จะมีการสุ่มตรวจไซต์ก่อสร้าง

และตรวจรถเมล์ทุกอู่ไม่ให้มีรถควันดำ ขณะที่โรงเรียนในสังกัด กทม.ปิดแล้ว จำนวน 195 โรง” นายชัชชาติกล่าว

 

นายกฯสั่งเร่งทำทันทีแก้ฝุ่นพิษ

ต่อมานายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 23 ม.ค.ตามเวลาท้องถิ่นกรุงดาวอส ตรงกับเวลา 13.30 น.ตามเวลาในประเทศไทย

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ได้มีข้อสั่งการให้ส่วนราชการทุกส่วนที่ได้ร่วมประชุม ทั้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และคณะทำงานส่วนราชการในการแก้ไขฝุ่นควัน

เมื่อวันพุธที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ก่อนการเดินร่วมประชุม World Economic Forum Annual Meeting 2025 (WEF AM25) ให้เร่งแก้ไขปัญหาทันที

ตามที่มีการกำหนดแนวทางในการประชุม และขอให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งการแก้ไขแบบเร่งด่วนทันที และแผนการระยะสั้น

และระยะยาว โดยขอหน่วยงานต่างๆรายงานการดำเนินการทุกวัน โดยกรุงเทพมหานครขอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตัดสินใจทันที

ทั้งเรื่องการประกาศหยุดเรียนของนักเรียนในสังกัด กทม. โดยส่วนราชการอื่นๆ อาทิ กระทรวงศึกษาธิการให้ตัดสินใจพิจารณาและกำชับให้ กทม. ใช้ 9 มาตรการ

เช่น เข้มงวดตรวจวัดตรวจจับรถยนต์ควันดำทุกประเภทร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนที่กำหนด ขอความร่วมมือทำงานหรือปฏิบัติงานในที่พัก (Work From Home)

เข้มงวดตรวจตราควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะหรือการเผาในที่โล่งทุกประเภทอย่างเข้มข้น และวันที่ 24 ม.ค

นายกฯจะวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อประชุมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนอีกครั้ง

 

เข้มจับรถควันดำปรับ 5 พัน

ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาฝุ่นในขณะนี้ว่าได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานในสังกัดดำเนินงานตามมาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น

PM 2.5 ของภาคคมนาคมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคคมนาคมขนส่ง

ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด โดยได้ให้กรมการขนส่งทางบกออกตรวจควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

รวมทั้งตั้งจุดตรวจบนถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทศ หากพบค่าควันดำเกินกว่าร้อยละ 30 จะมีความผิดตามมาตรา 71 ฐานนำรถที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงมาใช้งาน ถูกพ่นห้ามใช้รถและปรับ 5,000 บาท ทุกราย

 

สั่งตรวจไซต์ก่อสร้างห้ามเผาขยะ

รมว.คมนาคมกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

และหน่วยงานที่มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต่างๆ เข้มงวดให้ผู้รับเหมาฉีดพรมน้ำ ทำความสะอาดล้อรถที่เข้า-ออกพื้นที่ก่อสร้าง กวาดล้างถนนที่เปื้อนดินจากการก่อสร้าง

ปิดคลุมวัสดุก่อสร้างในการเก็บกองและขนย้าย และจัดการขยะอย่างเหมาะสม ห้ามเผาเด็ดขาด ดำเนินการตามที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กำหนด

รวมทั้งติดตามตรวจสอบยานพาหนะและอุปกรณ์ในพื้นที่ก่อสร้างให้อยู่ตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด หากพบว่าไม่ผ่าน ห้ามนำมาใช้เด็ดขาดจนกว่าจะปรับปรุงให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

 

15 จังหวัดเจอฝุ่นระดับสีแดง

วันเดียวกัน ที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารฝุ่น PM 2.5 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษก สธ. ด้านการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เปิดเผยว่าภาพรวมสถานการณ์วันที่ 23 ม.ค.

ซึ่ง สธ.ใช้เกณฑ์ระดับความเข้มข้นเฉลี่ย 24 ชม.ของฝุ่น PM 2.5ในช่วงเวลา 07.00 น.ของทุกวันเป็นหลักในการสื่อสาร วันที่ 23 ม.ค. ค่าเฉลี่ยที่เกินระดับสีส้มขึ้นไปหรือมากกว่า 37.5 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

มี 45 จังหวัด สีแดง ระดับ 75 ไมโครกรัม/ลบ.ม.ขึ้นไปมี 15 จังหวัด โดย 8 จังหวัดเป็นจังหวัดเดิมต่อเนื่องจากวันที่ 22 ม.ค.ได้แก่ สระบุรี เพชรบุรี กรุงเทพฯ ระยอง สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร และราชบุรี

และเพิ่มเติมอีก 7 จังหวัด คือปทุมธานี ลพบุรี ปราจีนบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี สิงห์บุรี และสมุทรสงคราม

โดยค่าเฉลี่ยที่เกิน 75 ไมโครกรัม/ลบ.ม.ติดต่อกัน 3 วันขึ้นไปมี 5 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี สุโขทัย สระบุรี สมุทรสาคร และกรุงเทพฯ จึงขอให้ประชาชนพื้นที่ดังกล่าวต้องปรับและเตรียมตัวป้องกันสุขภาพตนเองมากขึ้น

 

ม.ค.ปีนี้ป่วยจากฝุ่น 1.44 แสนคน

นพ.วรตม์ยังกล่าวถึงสถานการณ์ผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ว่า ข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลสุขภาพ Health Data Center (HDC) ภาพรวมประเทศในช่วงเดือน ม.ค.2567

ราว 5 แสนราย เป็นกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 214,180 ราย กลุ่มโรคตาอักเสบ 190,889 ราย กลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 126,553 ราย โรคหืด 11,221 ราย

และโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 2,171 ราย ขณะที่ข้อมูลที่รายงานผ่านระบบนี้ในเดือน ม.ค.2568 ยังไม่เป็นปัจจุบันแต่โดยรวมราว 1.44 แสนราย

เป็นกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบมากที่สุด รองลงมากลุ่มโรคตาอักเสบ กลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืด และโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

อย่างไรก็ตามปีนี้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนืออาจจะน้อยกว่าที่ผ่านมา แต่ใน กทม.ดูทรงแล้วจะสูง เมื่อหารเฉลี่ยทั่วประเทศ

ภาพรวมข้อมูลผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ในปี 2568 จะใกล้เคียงกับปี 2567 ในช่วงเวลาเดียวกัน

 

สพฐ.สั่งปิดเรียนหนีฝุ่น 57 แห่ง

ในส่วนการปิดโรงเรียนในพื้นที่ฝุ่นเยอะนั้น ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์วิกฤติฝุ่น PM 2.5 ว่า

ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีคำสั่งให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ.ที่อยู่ในพื้นที่สีแดง หยุดการเรียนการสอนเบื้องต้นเป็นเวลา 7 วัน

หรือจนกว่าสถานการณ์ฝุ่นจะคลี่คลาย และให้ทางโรงเรียนใช้รูปแบบการเรียนแบบออนไลน์ หรือการสั่งเป็นใบงานให้นักเรียนทำแทน ทั้งนี้

ตนขอย้ำว่าทุกโรงเรียนที่ตั้งอยู่เขตพื้นที่สีแดงให้ปิดการเรียนการสอนทันที สำหรับโรงเรียนสังกัด สพฐ.ที่ปิดการเรียนการสอน

แบ่งเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กทม. เขต 1 จำนวน 7 แห่ง สพม.กทม.เขต 2 จำนวน 42 แห่ง

ฃสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กทม.จำนวน 8 แห่ง รวมโรงเรียนสังกัด สพฐ.ที่อยู่ในเขตพื้นที่สีแดงที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ปิดเรียน รวมจำนวน 57 แห่ง

 

ศธ.ยังไม่มีมาตรการ WFH

ด้านนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษก ศธ. เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ย้ำให้สถานศึกษาทุกแห่งยึดมาตรการสุขภาพ

ไม่ว่าจะเป็นการสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา ส่วนการปิดสถานศึกษานั้น ขณะนี้ สพฐ.มีหนังสือสั่งการให้โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่สีแดงปิดการเรียนการสอนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายแล้ว

โดยให้เป็นอำนาจผู้บริหารโรงเรียนพิจารณาได้ตามความเหมาะสม เพราะขณะนี้นักเรียนกำลังใกล้สอบปลายภาคเรียนด้วย ดังนั้นความจำเป็นของแต่ละสถานศึกษาจึงมีความแตกต่างกัน

แต่ที่สำคัญได้สั่งให้งดกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิดแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่ กทม.คาดว่าจะคลี่คลายในเร็วๆนี้ จึงยังไม่มีคำสั่งให้ข้าราชการใน ศธ. WORK FROM HOME แต่อย่างใด

พบไฟไหม้ป่าสงวนฯ แม่หาด

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหลายจังหวัดที่สภาพอากาศเข้าขั้นมีผลกระทบต่อสุขภาพ ก็พบมีควันไฟจากการเผา โดยที่ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา

นายเพิ่มศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่า ที่ ชม.16 (ดอยเต่า) ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง ร้อย อส.ดอยเต่า ที่ 18 ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่ตูบ ม.9 ผู้ช่วยสารวัตร ต.โปงทุ่ง

ดำเนินการตรวจสอบจุดความร้อน (Hotspot) จากดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS พบจำนวน 3 จุด บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่หาด ต.ดอยเต่า อ.ฮอด

พบไฟไหม้พื้นที่นานนับชั่วโมง และไฟมอดหมดในเวลา 17.10 น. พื้นที่เสียหายประมาณ 10 ไร่

ไล่ฉีดละอองน้ำหวังลดฝุ่น

ส่วน จ.เพชรบุรี ที่ประสบปัญหาค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานมากว่า 1 สัปดาห์ ทำให้เมื่อเวลา 04.00 น. วันที่ 23 ม.ค. นายภคพัสส่งวัฒนายุทธ

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี พร้อมด้วย พล.ต.ต.กิตติ สำเภาทอง รองนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบุรี พ.อ.พีรฉัตร พานทอง รอง ผบ.มทบ.15

ได้เปิดปฏิบัติการฉีดพ่นละอองน้ำ เพื่อช่วยลดปริมาณของฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่อำเภอเมืองเพชรบุรี ด้วยการนำรถดับเพลิงจำนวน 7 คัน

ออกตระเวนฉีดพ่นละอองน้ำขึ้นไปในอากาศ ตามถนนสายสำคัญต่างๆในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี อาทิ ถนนดำเนินเกษม ถนนราชดำเนิน ถนนบริพัตร

ถนนมาตยาวงษ์ ฯลฯ พร้อมกันนี้ขอความร่วมมือประชาชนหยุดเผา ทั้งเผาหญ้า เผาขยะ หรือเผาผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ